เมื่อพูดถึง “ยาหอม” เชื่อว่าคนไทยหลายคนรู้จักและเคยเห็นยาชนิดนี้ผ่านตากันมาบ้างแล้ว ซึ่งคนรุ่นใหม่มักเข้าใจว่าเป็นยาสำหรับคนสูงวัยที่ใช้แก้ลมวิงเวียนอันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้นเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ววัยรุ่นและวัยทำงานก็สามารถใช้ยาหอมได้เช่นเดียวกัน เพราะยาหอมจากภูมิปัญญาไทยนั้นมีกว่า 300 ตำรับที่มากไปด้วยประโยชน์และมีสรรพคุณทางยาที่โดดเด่น โดยตำรับยาหอมนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านการปรุงยา โดยไม่พบการใช้ยาหอมในแพทย์แผนอื่นหรือจากชนชาติอื่น จากการศึกษาตำรับยาหอมในหนังสืออายุรเวทศึกษาแสดงให้เห็นว่า ยาหอมสามารถรักษาอาการผิดปกติของร่างกายได้ถึง 90 อาการ เช่น บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน และแก้อาการจุกเสียด ฯลฯ อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขยังได้มีประกาศให้ยาหอมเป็นบัญชียาแผนโบราณสามัญประจำบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 นับเป็นต้นมา
วันนี้ ห้าม้าโอสถ หนึ่งในผู้สืบทอดตำรับยาหอมมาตั้งแต่โบราณจะพาทุกคนมาทำความรู้จักตำรับยาหอมจากภูมิปัญญาไทยให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาว่ายาสมุนไพรผงสีน้ำตาลที่พบเห็นกันมาตั้งแต่อดีต ทำไมถึงยังคงอยู่และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้
ทำความรู้จัก ยาหอม คืออะไร?
ยาหอม หรือยาลม คือ ยาสมุนไพรไทยที่มีลักษณะเป็นผงละเอียดหรืออัดในรูปแบบเม็ดเล็ก ใช้สำหรับรับประทานเพื่อบำรุงร่างกายและบรรเทาอาการที่เกิดจากธาตุไม่สมดุล เช่น วิงเวียน หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน ช่วยบำรุงหัวใจและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยตำรับยาหอมจะ
ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีสรรพคุณโดดเด่น โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีรสหอมเย็น เช่น ดอกมะลิ ดอกกระดังงา ดอกบัวหลวง เกสรดอกไม้ เครื่องเทศ และยาสมุนไพรอื่นๆ ที่มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลลมและธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย จึงมักถูกนำมาใช้เพื่อบำบัดอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบลม และอาการที่เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย
อีกนัยหนึ่ง ยาหอมจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านของคนไทย สืบเนื่องจากประโยชน์ทางยาที่หลากหลายและสามารถใช้บรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด นอนไม่หลับจากความเครียด อีกทั้งยังถูกนำมาใช้มอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น ใช้ถวายพระ มอบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ ตลอดจนใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและการดูแลผู้หญิงหลังคลอด ซึ่งถือเป็นการสะท้อนความใส่ใจและการดูแลสุขภาพทั้งในระดับครอบครัวและชุมชนเลยทีเดียว
ประวัติความเป็นมาของยาหอมจากภูมิปัญญาไทย
ต้นตำรับของยาหอมมีประวัติความเป็นมายาวนานนับร้อยปี ถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่ใช้รักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับ “ลม” ในร่างกาย ซึ่งเป็นหนึ่งในธาตุสำคัญตามทฤษฎีธาตุทั้ง 4 ในแพทย์แผนไทย ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ซึ่งในสมัยโบราณนั้นยาหอมมีการใช้กันภายในราชสำนักและในกลุ่มชนชั้นสูง
สมัยโบราณ
จุดเริ่มต้นของยาหอมปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยาในตำราพระโอสถพระนารายณ์ โดยการพัฒนายาหอมในยุคนั้นเกิดจากทั้งภูมิปัญญาไทยประกอบกับอิทธิพลจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดียและศาสตร์การแพทย์จีน ดังนั้นในตำรับยาหอมจึงมีสมุนไพรหลากหลายชนิดจากทั้งจากในประเทศไทยเองและจากต่างประเทศที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในยาหอมเพื่อเสริมฤทธิ์ทางยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยุครัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดเกล้าให้รวบรวมและจารึกสรรพวิชาทางการแพทย์ไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) รวมถึงมีการพัฒนาตำรับยาหอมหลากหลายสูตร หลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ยาหอมได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็นยุคที่การแพทย์แผนไทยได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการรวบรวมตำรับยาหอมต่าง ๆ ไว้ในคัมภีร์การแพทย์แผนไทย เช่น ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ โดยมีตำรับยาหอมที่ขึ้นชื่อหลายขนาน ไม่ว่าจะเป็น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมอินทจักร์ ยาหอมทิพโอสถ และยาหอมนวโกฐ ตำรับยาเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับอาการป่วยในยุคนั้นและทำให้ประชาชนเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น
ยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบันนี้ ยาหอมยังคงได้รับความนิยมและการยอมรับในฐานะสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในหมู่คนที่นิยมการแพทย์แผนไทยหรือสมุนไพรธรรมชาติ โดยระดับการใช้ยาหอมนั้นมีตั้งแต่การใช้โดยผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทยและการใช้อย่างง่ายในชีวิตประจำวันในฐานะยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งมียาหอมอยู่ถึง 4 ตำรับอันเป็นที่ยอมรับว่าและใช้กันมายาวนาน ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร และยาหอมนวโกฐ
องค์ประกอบของตำรับยาหอม
เนื่องจากสมุนไพรแต่ละชนิดนั้นมีสรรพคุณทางยาที่แตกต่างกัน สมุนไพรบางชนิดช่วยบำรุงหัวใจหรือบางชนิดช่วยขับลม ซึ่งยาหอมแต่ละสูตรถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพที่จำเพาะ องค์ประกอบของยาหอมในแต่ละตำรับจึงมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดยหลักๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 4 องค์ประกอบ ดังนี้
- ตัวยาพื้นฐาน ได้แก่ สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม รสสุขุม เช่น โกฐทั้งห้า เทียนทั้งห้า กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก และอบเชย เป็นต้น
- สมุนไพรรสร้อน เช่น กระชาย สนเทศ สมุลแว้ง ว่านน้ำ เปราะหอม สุรามฤต ข่าต้น ลูกจันทน์ ผิวส้ม ฯลฯ เหมาะสำหรับตำรับยาที่ใช้แก้เป็นลม วิงเวียนศีรษะ
- ตัวยาปรับธาตุ มักได้จากสะค้าน ช้าพลู ขิง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง หรือในกลุ่มตรีผลา เช่น สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม เหมาะสำหรับยาหอมที่ใช้แก้ปัญหาเลือดลมไหลเวียนไม่ดี
- ส่วนประกอบเฉพาะตำรับ เช่น ยาหอมรสเย็นมักมีส่วนประกอบของพิกัดเกสร หรือดอกไม้หอม ยาหอมบำรุงเลือดมักมีส่วนประกอบของสมุนไพรรสขม นอกจากนี้ยาหอมบางสูตรอาจต้องใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาจึงจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ประโยชน์ของยาหอมที่มีต่อสุขภาพ
โดยทั่วไป ยาหอมใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ซึ่งคำว่า “บำรุงหัวใจ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการกระตุ้นหรือปรับอัตราการเต้นของหัวใจ แต่ในทางการแพทย์แผนไทยหมายถึงการปรับการทำงานของธาตุลมที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงจิตใจ อารมณ์ การไหลเวียนเลือดต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จึงเรียกรวมกันว่า “ลมกองละเอียด” ส่วนลมที่อยู่ในทางเดินอาหารและก่อให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง เรียกว่า “ลมกองหยาบ” โดยยาหอมแต่ละสูตรจะมีส่วนประกอบของสมุนไพรและตัวยาที่ช่วยปรับการทำงานของลมในร่างกายให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล เช่น
- ปรับสมดุลธาตุ ยาหอมช่วยปรับสมดุลของธาตุลมในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของธาตุไฟและธาตุน้ำ ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลและเลือดลมไหลเวียนดี
- บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ยาหอมหลายตำรับ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ และยาหอมทิพโอสถ มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น
- บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด และอาการอ่อนเพลียหลังฟื้นไข้ รวมถึงช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น
- บำรุงหัวใจ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น แก้ลมบาดทะจิต ช่วยให้รู้สึกสงบ และลดอาการหงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน
- ช่วยให้นอนหลับสบาย แก้อาการนอนไม่หลับและอาการเท้าเย็นในตอนกลางคืนอันเนื่องมาจากความเครียด เช่น ตำรับยาหอมเทพจิตรที่มีดอกมะลิเป็นตัวยาหลักและมีสัดส่วนมากถึง 50% ซึ่งเป็นมีตัวยารสสุขุม เย็น และกลิ่นหอม รวมถึงมีส่วนประกอบของเปลือกส้มกว่า 8 ชนิดและตัวยาอื่นๆ อีก 48 ชนิด เหมาะสำหรับใช้แก้ลม วิงเวียน บำรุงให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่นและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เป็นต้น
จากประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพและภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ยาหอมจึงได้รับการอนุรักษ์ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยมีการส่งเสริมการใช้ยาหอมในด้านการแพทย์ทางเลือกและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ผสานศาสตร์และศิลป์ในการดูแลสุขภาพมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบันนี้ยาหอมยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะยาสมุนไพรที่ช่วยบำบัดอาการและในด้านการส่งเสริมสุขภาพ โดยมีการผลิตยาหอมในรูปแบบที่ทันสมัย เช่น แบบเม็ด แบบแคปซูล และผงบรรจุซอง เพื่อความสะดวกในการใช้งานและมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน จึงกล่าวได้ว่ายาหอมเป็นภูมิปัญญาไทยที่ควรค่าแก่การสืบสานและเผยแพร่ไปสู่ระดับสากล